วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 111 - 120 /2557

ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 111/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
         โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่้นและชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
         "มาตรา ๗  ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดระบบการบริหาร การปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน โดยต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณและอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต.ช. กำหนด
          การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคเอกชนนั้น"
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 112/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒
           โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อให้การดำเนินการในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า คณะกรรมการในข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            “คณะกรรมการหมายความว่า คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลหรือข่าวสารการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
           ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒
            ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๙ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             “ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นกรรมการ
            ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการและเลขานุการและให้แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจำนวนสองคนเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
            ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๑๑ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            “ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
             (๑) กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
             (๒) ตรวจสอบ กลั่นกรอง และแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
             (๓) พิจารณากรณีที่มีการกล่าวหาร้องเรียน หรือข้อมูลหรือข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งข่าวเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นซึ่งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
             (๔) เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนมาชี้แจง ส่งข้อมูลหรือเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณา และอาจร้องขอให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ
             (๕) ส่งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนติดตามการดำเนินการดังกล่าว
             (๖) ติดตาม กวดขัน และสอดส่องดูแล การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
             (๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
            ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 101 - 110 /2557

ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 101/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557
         โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เพื่อให้กระบวนการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถดำเนินการได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 10 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช
                 "ข้อ 10 ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาในตำแหน่งใดในคณะกรรมการสรรหาตามข้อ 3 หรือข้อ 5 ให้คณะกรรมการสรรหาดังกล่าวประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่”
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102 / 2557
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านเช่นเดียวกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนภายในหมู่บ้านโดยส่วนรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3) ในวรรคหนึ่งของมาตรา 28 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2510
          “(3) ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ”
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103 / 2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เพื่อให้การเผนแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนและความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  "(3) การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ"
         ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  "ข้อ 5 ในกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ"
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำสั่ง คสช. ที่ 91 - 100 /2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 91/2557
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.)
       เพื่อให้การพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
       1. องค์ประกอบ
          1.1 รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ/หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ ประธานกรรมการ
          1.2 หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รองประธานกรรมการ
          1.3 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
          1.4 ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
          1.5 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
          1.6 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
          1.7 ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ
          1.8 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ
          1.9 ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการ
          1.10 ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
          1.11 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
          1.12 ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
          1.13 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
          1.14 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
          1.15 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
          1.16 ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
          1.17 ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
          1.18 ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
          1.19 ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กรรมการ
          1.20 เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
          1.21 รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
       2. อำนาจหน้าที่
          2.1 ให้ความเห็นหรือเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
          2.2 กำกับดูแล ประสานงาน และเร่งรัดติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
          2.3 เชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ รวมทั้งเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
          2.4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
          2.5 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
        ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ ให้เบิกจ่ายตามระเบียบทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        สั่ง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 91 - 100 /2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๑/๒๕๕๗
เรื่อง การก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
         เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารตาม "โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภค" ซึ่งเป็นอาคารศูนย์การแพทย์ จำนวน ๑ หลัง เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาและการบริการผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ อนุมัติในหลักการโครงการและสนับสนุนด้านงบประมาณให้โครงการแล้ว แต่โดยที่พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารมีอย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารสูงเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ กรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นข้อจำกัดบางประการ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ต่อไปได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่เลขที่ ๒ ถนนวังหลัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขนาดพื้นที่โครงการ ๓,๐๑๗ ตารางเมตร หรือประมาณ ๑.๘๘ ไร่ ประกอบด้วยอาคารศูนย์การแพทย์ จำนวน ๑ หลัง ขนาดความสูง ๒๕ ชั้น และชั้นใต้ดินสองชั้น ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติดังต่อไปนี้
              (๑) หมวด ๑ ลักษณะของอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
              (๒) ข้อ ๓๑ แห่งกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๖
              (๓) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๓๕
              (๔) หมวด ๕ แนวเขตอาคาร และระยะต่างๆ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๔๔
        ข้อ ๒ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม "โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เว้นแต่การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการหรือขั้นตอนใดไม่สามารถดำเนินการได้ และจะทำให้การดำเนินการโครงการต้องล่าช้าออกไปโดยไม่ได้เกิดจากการดำเนินการของโครงการ ให้โครงการได้รับการยกเว้นขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนนั้น
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๒/๒๕๕๗
เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
         โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาเห็นเป็นการสมควรลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นกลไกทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จึงให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๕๔๙) พ.ศ.๒๕๕๕
         ข้อ ๒ ให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
               (๑) ร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘
               (๒) ร้อยละเก้า สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นต้นไป
        ข้อ ๓ ให้ประกาศคณะรักษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ.๒๕๓๔
        ข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้
        ข้อ ๕ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 81 - 90 /2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๑/๒๕๕๗
เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.๒๕๒๑
        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้ว ต่ำกว่าเดือนละเก้าพันบาทได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มอีกตามอัตราที่กำหนดอันเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่บุคคลดังกล่าวในการครองชีพ จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.๒๕๒๑ ดังต่อไปนี้
        ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ นว แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.๒๕๒๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ.๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             “มาตรา ๔ นว ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ หรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการถ้าได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญรวมกันทุกประเภทเมื่อรวมกับ ช.ค.บ.แล้ว ต่ำกว่าเดือนละเก้าพันบาทให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีกในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจำนวนเงินเก้าพันบาทหักด้วยจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญทุกประเภท และ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิ์ได้รับ
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๒/๒๕๕๗
เรื่อง  เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๗
             โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีการจ่ายเงิน ช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ของกระทรวงกลาโหม และเพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปโดยสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
             ข้อ ๑ ในประกาศนี้
              “ข้าราชการทหารหมายความว่า ข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร
              “โครงการหมายความว่า โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗ ถึงปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑
              “เงินเดือนเดือนสุดท้ายหมายความว่า เงินเดือนที่ได้รับจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออก จากราชการ รวมทั้งเงินเดือนที่ได้เลื่อนครั้งสุดท้ายก่อนออกจากราชการและเงินประจำ ตำแหน่ง แต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มทุกประเภท
              “เงินประจำตำแหน่งหมายความว่า เงินประจำตำแหน่งตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร 
              “เงินช่วยเหลือหมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ข้าราชการทหารซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตาม โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม
              “เวลาราชการหมายความว่า เวลาที่ข้าราชการทหารรับราชการมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงิน เดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้า ราชการ แต่ไม่รวมถึงเวลาราชการที่มีสิทธิ์ได้นับเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
               “เวลาราชการที่เหลือหมายความว่า เวลาตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีงบประมาณที่ข้าราชการทหารผู้ประสงค์จะลาออกจากราชการมีอายุครบหกสิบปีบ ริบูรณ์
              ข้อ ๒ ข้าราชการทหารซึ่งจะเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ในวันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ
               (๑) มีอายุตั้งแต่ห้าสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีเวลาราชการตั้งแต่ยี่สิบห้าปีขึ้นไป ทั้งนี้ให้นับถึงวันก่อนวันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการ
               (๒) มีเวลาราชการที่เหลือไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการ
               (๓) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบหาข้อเท็จจริง หรือถูกสอบสวนทางวินัย หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการลงโทษทางวินัยตามกฎหมายเกี่ยวกับวินัยทหาร หรือเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ ได้กระทำโดยประมาท
               (๔) ไม่เป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร
               (๕) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับส่วนราชการ ในการไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย เว้นแต่จะยินยอมชดใช้เงินตามสัญญาผูกพันที่ได้ทำไว้กับราชการและได้ปฏิบัติ ราชการชดใช้มาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยนั้น
               วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตาม วรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของโครงการ
               ข้อ ๓ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการทหารซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตาม โครงการ เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนปีของเวลาราชการที่เหลือบวกด้วยแปดและคูณด้วยเงิน เดือนเดือนสุดท้าย แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
               การนับเวลาราชการที่เหลือตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณเป็นปี แต่ถ้ามีเศษของปีถึงครึ่งปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
               การเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
               การรับเงินช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง ไม่ตัดสิทธิของข้าราชการทหารที่มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้า ราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใดที่ทางราชการให้แก่ผู้รับบำเหน็จบำนาญ
               ข้อ ๔ ในกรณีที่ข้าราชการทหารซึ่งมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามข้อ ๓ ถึงแก่ความตายก่อนได้รับเงินช่วยเหลือ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               ข้อ ๕ ภายในระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ หากปรากฏว่าข้าราชการทหารซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามลักษณะหนึ่งลักษณะใดตามข้อ ๒ ข้าราชการทหารผู้นั้นไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือตามข้อ ๓ และให้ส่วนราชการที่อนุญาตให้ลาออกจากราชการเรียกเงินช่วยเหลือคืน โดยผู้นั้นต้องคืนเงินช่วยเหลือภายในเวลาและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กระทรวงการคลังกำหนด
              ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งประสงค์จะกลับ เข้ารับราชการ และมิใช่กรณีที่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๒ (๓) หรือ (๔) ให้หัวหน้าส่วนราชการซึ่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการ สั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนเงินอื่นที่จ่ายเป็นรายเดือน และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่ทางราชการให้แก่ผู้นั้นในระหว่างที่ไม่ได้ปฏิบัติราชการ
              ข้อ ๖ ภายใต้บังคับข้อ ๕ ผู้ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือตามข้อ ๓ แล้ว หากกลับเข้าเป็นข้าราชการประจำในส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับ ของฝ่ายบริหาร หรือส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอีก ให้ผู้นั้นส่งคืนเงินช่วยเหลือที่ได้รับไว้ทั้งหมด พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำสิบสองเดือนของธนาคารออมสินตามหลัก เกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
              ข้อ ๗ ให้นำความในข้อ ๖ มาใช้บังคับกับผู้ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือตามข้อ ๓ แล้ว และต่อมาได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยอนุโลม ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่สัญญาจ้างมีระยะเวลาเกินหนึ่งปี โดยให้นับรวมระยะเวลาการต่ออายุสัญญาจ้างด้วย
              เพื่อประโยชน์แห่งข้อนี้ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาหมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคล ทั้งที่เป็นส่วนราชการและที่เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ โดยผู้นั้นได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ ของสถานศึกษาของรัฐนั้น
              ข้อ ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศนี้
              ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
                        ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำสั่ง คสช. ที่ 81 - 90 /2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๑/๒๕๕๗
เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
      เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังนี้
      ข้อ ๑ ให้กำหนดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มขึ้นในส่วนราชการ ดังนี้
        (๑) ตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนสองตำแหน่ง
        (๒) ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในกระทรวงการคลัง จำนวนหนึ่งตำแหน่ง
        (๓) ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในกระทรวงแรงงาน จำนวนหนึ่งตำแหน่ง
      ข้อ ๒ ให้ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
      ข้อ ๓ ให้ นายโชติ ตราชู พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
      ข้อ ๔ ให้ นายสุทธิชัย สังขมณี พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นพิเศษเฉพาะราย
      ข้อ ๕ ให้ นายประวิทย์ เคียงผล พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นพิเศษเฉพาะราย
      ข้อ ๖ ให้ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม
      ข้อ ๗ ให้ นายมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      ข้อ ๘ ให้ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส พ้นจากตำแหน่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      ข้อ ๙ ให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
      ข้อ ๑๐ ให้ นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
      ข้อ ๑๑ ให้ นายสุพจน์ โตวิจักรชัยกุล พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      ข้อ ๑๒ ให้ นายประสงค์ พูนธเนศ พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร
      ข้อ ๑๓ ให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
      ข้อ ๑๔ ให้ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน
      ข้อ ๑๕ ให้ นายสุเมธ มโหสถ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน
      ข้อ ๑๖ ให้ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้างต้น ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้เป็นต้นไป
      ข้อ ๑๗ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน โดยจัดให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่เดิม
      ข้อ ๑๘ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
      ข้อ ๑๙ เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
      ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      สั่ง ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗