ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๑/๒๕๕๗
เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เฉพาะกิจ)
เพื่อให้การกำหนดนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นการเฉพาะกิจ ดังต่อไปนี้
๑. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ประธานกรรมการ
๒. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง (รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) รองประธานกรรมการ
๓. ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
๔. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
๕. ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
๖. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
๗. ปลัดกระทรงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
๘. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
๙. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ
๑๐. ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
๑๑. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
๑๒. ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรรมการ
อำนาจหน้าที่
ให้มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.๒๕๔๓
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/ ๒๕๕๗
เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม นำส่งมอบภายในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ แล้วนั้น แต่เนื่องด้วยปรากฏว่ายังมีบุคคลจำนวนหนึ่งมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน มาใช้ในการกระทำความผิดต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองเป็นไปโดยเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฏหมายห้ามออกใบอนุญาตตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฏหมายดังกล่าวภายในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ทั้งนี้ เฉพาะอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ซึ่งนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ขยายระยะเวลาการนำส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม
ข้อ ๒. ให้ผู้ที่ปฏิบัติตามข้อ ๑ ไม่ต้องรับโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
ข้อ ๓. ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
ข้อ ๔. ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้ บังคับ และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือคดีไม่ถึงที่สุด
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๓/๒๕๕๗
เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งปวงตามแต่กรณี แต่การดำเนินคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่า มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้ง และความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐ ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวดเร็ว เป็นธรรมแก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชน และนานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ในกระบวนการยุติธรรม องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอิสระอื่นๆ อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ในการดำเนินคดีตามประเภทคดี ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ซึ่งสาธารณชน สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน ในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๔/๒๕๕๗
เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และได้มีการปรับลดห้วงระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน และยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ฉบับที่ ๕๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ฉบับที่ ๕๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และฉบับที่ ๖๐/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ แล้วนั้น เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้คลี่คลาย และไม่ปรากฏสิ่งบอกเหตุ อันจะนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง
ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลาย และบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งเพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศ จึงให้ยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ในพื้นที่ส่วนที่เหลือทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๕/๒๕๕๗
เรื่อง การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และระบบผ่านดาวเทียม
ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่องขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และโดยที่ในปัจจุบันสถานการณ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ให้สถานีโทรทัศน์ ดังต่อไปนี้ออกอากาศรายการประจำของสถานีได้ตามปกติ
๑) สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล ซึ่งได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ว๊อยซ์ทีวี
๒) สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แบบบอกรับสมาชิก สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์
ข้อ ๒. การออกอากาศรายการประจำสถานีของสถานีโทรทัศน์ตามข้อ ๑ จะต้องถือปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่องห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนาล็อก และสถานีวิทยุกระจายเสียง และประกาศรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล และสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต สัญญา หรือสัมปทานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดตลอดระยะเวลาการออกอากาศ.
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๖/๒๕๕๗
เรื่อง การออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ
ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๓ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนาล็อก และสถานีวิทยุกระจายเสียง และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๓๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ แล้วนั้น เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ออกอากาศรายการได้ตามปกติ เมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๗/๒๕๕๗
เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว
ตามที่ปรากฏข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย จนเป็นผลให้แรงงานต่างด้าวอพยพ และละทิ้งงานกลับไปภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความกังวลต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงขอแจ้งมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าวให้ทราบ ดังต่อไปนี้
๑. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่มีนโยบายที่จะเร่งรัดจับกุมกวาดล้างแรงงานต่างด้าวตามที่ปรากฏเป็นข่าว
๒. การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ในขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดให้มีมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว โดยให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ประกอบกิจการบนบก และทางทะเล จัดเตรียมรายชื่อลูกจ้างในสังกัดให้ครบถ้วน เพื่อให้พร้อมรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในห้วงต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การประทุษร้าย รวมทั้งเพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ตลอดจนสามารถชี้แจงต่างประเทศได้ โดยไม่ถูกลดระดับความหน้าเชื่อถือ
๓. สำหรับมาตรการ/กระบวนการ และการปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ มีความยั่งยืน และไม่ให้เกิดผลกระทบดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มุ่งหวังที่จะได้ดูแลแรงงานของทุกชาติที่อยู่ในประเทศไทย อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ให้สมกับที่ประเทศต้นทางของแรงงานเหล่านั้นให้ความเป็นห่วง
๔. ให้ระมัดระวัง กรณีที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ มาปล่อยข่าวให้แรงงานเกิดความหวาดกลัว ซึ่งกลุ่มที่กระทำดังกล่าว อาจเป็นกลุ่มที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในการจัดระเบียบแรงงานผิดกฎหมายกลุ่มใหม่ หรือไม่ต้องการจ่ายค่าจ้างให้ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ทั้งนี้ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว ให้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายต่อไป
๕. ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ฯลฯ ที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ทำความเข้าใจกับลูกจ้างและให้ความร่วมมือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบโดยในระยะนี้ ให้ถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่าวด้าว
๖. หากผู้ประกอบการ นายจ้าง แรงงานต่างด้าว และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีข้อสงสัยในการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ขอให้แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ ตลอดจนสอบถามข้อสงสัยดังกล่าวโดยทันที ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป
๗. ประเทศไทย ถูกกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชน และสังคมโลก ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเถื่อน แรงงานทาส การใช้กำลังประทุษร้ายต่อแรงงาน ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ดังนั้น การเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
๘. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์ให้สื่อต่างประเทศ/องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าใจโดยทั่วกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่มีการปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธต่อแรงงานจนเสียชีวิต หรือมีการจับกุมกวาดล้าง ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริง ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
๙. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยึดถือการดำเนินการ ตามข้อ ๑ - ๘ เป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๘/๒๕๕๗
เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ ๑ เป็นการชั่วคราว
ตามที่ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน เพื่อให้การแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและมีการบูรณาการ เคารพต่อหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ใช้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองในการทำงานและไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ นายจ้าง ในอุตสาหกรรมประมงและกิจการต่อเนื่อง โดยในช่วงนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมาตรการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง จัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระเบียบในห้วงต่อไป
ข้อ ๒. ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวที่อยู่อาศัยในประเทศไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อทางการไทยสามารถให้การคุ้มครองดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ตามมาตรการระยะที่ ๑ ที่ยังมีการผ่อนผันอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้องมีการควบคุม
ข้อ ๓. ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ และขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ข้อ ๔. เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดปล่อยปละละเลย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก สตรี และการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและทางอาญาทันที
ข้อ ๕. ให้การดำเนินการข้างต้นสอดคล้องกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก ตลอดจนมาตรฐานสากลด้านสิทธิแรงงานและหลักการด้านมนุษยธรรม เพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค และมนุษยธรรม
ข้อ ๖. ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕ และให้รายงานผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๙/๒๕๕๗
เรื่อง การยื่นคำของบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘
ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐/๒๕๕๗ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่กำหนดให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย นั้น เพื่อให้การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ตลอดจนการยื่นคำของบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑.ให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการและคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. ๒๕๕๑ จัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แล้วแต่กรณี โดยให้สอดคล้องและอยู่ภายใต้กรอบของแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (พ.ศ. ๒๕๕๗ - พ.ศ. ๒๕๖๐) รวมทั้งต้องเป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนด และเมื่อจัดทำเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ ๒. ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่จัดทำตามข้อ ๑ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นผู้เสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๓. เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่เสนอตามข้อ ๒ แล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการส่งแผนปฏิบัติราชการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดสรรงบประมาณ
การส่งแผนปฏิบัติราชการต่อสำนักงบประมาณตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้ยื่นคำขอของบประมาณต่อสำนักงบประมาณตามกฏหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณแล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗
เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ และการสร้างมาตรฐานในการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและนายจ้างซึ่งประกอบกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก และเพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานต่างด้าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้.
ข้อ ๑ ให้จัดตั้งศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ในจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดสุรินทร์ เพื่อดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ศูนย์ดังกล่าวเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานมีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อ ๒ คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะได้เคยทำงานในประเทศไทยมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ให้แจ้งความประสงค์ต่อศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว การเข้ามาทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาให้เป็นไปตามกฏหมายในเรื่องนั้นๆ
ในกรณีที่มีนายจ้างยื่นแบบความต้องการแรงงานต่าวด้าว หรือบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานในกิจกรรมของตนเองไว้กับศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานหากศูนย์ดังกล่าวตรวจสอบแล้วพบว่าคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่แจ้งความประสงค์ไว้เป็นผู้ที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของนายจ้างหรือเมื่อมีการตรวจสอบบัญชีรายชื่อของนายจ้างแล้วตรงกับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่แจ้งความประสงค์ไว้ให้แจ้งนายจ้างมารับตัวบุคคลนั้นเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราวต่อไป
ให้ศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานพิจารณาออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวแก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่นายจ้างมารับตัวตามวรรคสอง โดยให้ใบอนุญาตมีอายุหกสิบวันนับแต่วันที่ออก และให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ ๓ เมื่อนายจ้างรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาตามข้อ ๒ มาแล้ว ให้นำบุคคลดังกล่าวไปขอรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จตามข้อ ๔ ในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการของนายจ้าง
ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ออกตามวรรคหนึ่ง ให้มีอายุเท่าจำนวนวันที่เหลืออยู่ของใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราว
ข้อ ๔ ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในจังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรกและเริ่มทำการตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ส่วนการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนด
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จมีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพคนต่างด้าว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อ ๕ ให้คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาหรืออยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดแล้ว หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฏหมาย ไปรายงานตัว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ
ในกรณีที่คนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งไปรายงานตัวพร้อมนายจ้างและแจ้งความประสงค์จะทำงานเป็นกรรมกร หรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือทำงานอื่นอันมิได้เป็นการฝ่าฝืนกฏหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแก่คนต่างด้าวนั้น โดยให้ใบอนุญาตมีอายุหกสิบวันนับแต่วันที่ออก และให้คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ ๖ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้แล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติเพื่อการออกใบอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานตามที่กฏหมายกำหนดต่อไป
ข้อ ๗ ใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้สิ้นสุดลงเมื่อคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวหรือใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้มีกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) วิกลจริตหรือเป็นโรคที่ต้องห้ามตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดหรือเป็นผู้ที่สุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานโดยดุลยพินิจของแพทย์
(๒) ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) มีพฤติการณ์ที่เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ
(๔) มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากรหรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ ๘ มิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๒ (๓) มาตรา ๕๔ และมาตรา ๘๑ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวหรือใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้ ในระหว่างวันที่อายุของใบอนุญาตยังคงอยู่
ข้อ ๙ ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๑๐ ให้กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการผ่านเข้าออกประเทศตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดและให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ ๑๑ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดถือข้อกำหนดในประกาศนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานโดยทั่วกัน และให้พิจารณากำหนดมาตรการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือของผู้ประกอบการและนายจ้าง หรือมาตรการอื่นใดอันจะเป็นการส่งเสริมการดำเนินการตามประกาศนี้
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ