วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 91 - 100 /2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๑/๒๕๕๗
เรื่อง การก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
         เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารตาม "โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภค" ซึ่งเป็นอาคารศูนย์การแพทย์ จำนวน ๑ หลัง เพื่อใช้เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาและการบริการผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ อนุมัติในหลักการโครงการและสนับสนุนด้านงบประมาณให้โครงการแล้ว แต่โดยที่พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารมีอย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารสูงเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ กรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นข้อจำกัดบางประการ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ต่อไปได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารตาม “โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่เลขที่ ๒ ถนนวังหลัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขนาดพื้นที่โครงการ ๓,๐๑๗ ตารางเมตร หรือประมาณ ๑.๘๘ ไร่ ประกอบด้วยอาคารศูนย์การแพทย์ จำนวน ๑ หลัง ขนาดความสูง ๒๕ ชั้น และชั้นใต้ดินสองชั้น ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติดังต่อไปนี้
              (๑) หมวด ๑ ลักษณะของอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ.๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
              (๒) ข้อ ๓๑ แห่งกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๖
              (๓) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๓๕
              (๔) หมวด ๕ แนวเขตอาคาร และระยะต่างๆ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๔๔
        ข้อ ๒ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม "โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภค" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เว้นแต่การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการหรือขั้นตอนใดไม่สามารถดำเนินการได้ และจะทำให้การดำเนินการโครงการต้องล่าช้าออกไปโดยไม่ได้เกิดจากการดำเนินการของโครงการ ให้โครงการได้รับการยกเว้นขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนนั้น
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๒/๒๕๕๗
เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
         โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาเห็นเป็นการสมควรลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นกลไกทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จึงให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๕๔๙) พ.ศ.๒๕๕๕
         ข้อ ๒ ให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
               (๑) ร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘
               (๒) ร้อยละเก้า สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นต้นไป
        ข้อ ๓ ให้ประกาศคณะรักษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ.๒๕๓๔
        ข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้
        ข้อ ๕ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗


ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๓/๒๕๕๗
เรื่อง  การกำหนดอัตราตำแหน่งและค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
           โดยที่เป็นการสมควรให้มีการกำหนดอัตราตำแหน่งของผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ และกำหนดค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ ให้มีอัตราตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังต่อไปนี้
            (๑) เลขาธิการหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑ อัตรา
            (๒) ที่ปรึกษาประจำหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๒ อัตรา
            (๓) รองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑๔ อัตรา
            (๔) ที่ปรึกษาประจำผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑๔ อัตรา
            (๕) โฆษกประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑ อัตรา
            (๖) รองโฆษกประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑ อัตรา
            (๗) ประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน ๑๐ อัตรา
           ข้อ ๒ ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตามข้อ ๑ ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนเท่ากับอัตราเงินเดือนตามที่กำหนดไว้ในบัญชี อัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมืองท้ายกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง โดยเทียบตำแหน่งดังนี้
            (๑) เลขาธิการหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
            (๒) ที่ปรึกษาประจำหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
            (๓) รองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่ารองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
            (๔) ที่ปรึกษาประจำผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
            (๕) โฆษกประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
            (๖) รองโฆษกประจำ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
            (๗) ประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เทียบเท่า ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
           ข้อ ๓ เงินค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๑ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๔/๒๕๕๗
เรื่อง  การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม
          โดยที่ข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่องมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด โดยการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศกำหนด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพิ่มเติมใน ๑๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง สตูล และสมุทรสงคราม ทั้งนี้ ให้เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๕/๒๕๕๗
เรื่อง  การให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
          เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้นายกวิน ทังสุพานิช พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
          ข้อ ๒ ให้กรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง
          ข้อ ๓ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหาตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐ มิให้นำมาใช้บังคับกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามประกาศนี้
          ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกอบด้วย
                   (๑) นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการ
                   (๒) นางดวงมณี โกมารทัต กรรมการ
                   (๓) นางปัจฉิมา ธนสันติ กรรมการ
                   (๔) นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย กรรมการ
                   (๕) นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ กรรมการ
                   (๖) นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ กรรมการ
                   (๗) นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ
                    ให้กรรมการตามวรรคหนึ่ง ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
          ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการตามข้อ ๔ เป็นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐
          ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการตามข้อ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
          ข้อ ๗ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ ๔ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๖/๒๕๕๗
เรื่อง  การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม
         เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและประชาชนได้รับความพึงพอใจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยจัดตั้งขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร โดยประกาศให้ประชาชนทราบ
          ข้อ ๒ ให้ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ให้สามารถบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
          ข้อ ๓ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และวางแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์ดำรงธรรม
          ข้อ ๔ ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
          ข้อ ๕ ในกรณีที่จำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ดำรงธรรมให้สามารถแก้ไขปัญาของประชาชนให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาลการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์การคุ้มครองป้องกันหรือช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความเป็นธรรม และการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมตามนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการ บังคับบัญชา กำกับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และข้าราชการในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด
         ข้อ ๖ ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กำกับดูแลและอำนวยการให้การบริหารงานของศูนย์ดำรงธรรมและการบริหารงานจังหวัดดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗
เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ
         เพื่อให้การปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปได้ความเรียบร้อย และเพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนและความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
                  (๑) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฎิบัติงานของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
                  (๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
         ข้อ ๒ ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
         ข้อ ๓ ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งผู้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอันรวมถึงการสื่อสารทางสังคมสื่อออนไลน์ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้บุคคลดังกล่าวรวมทั้งบุคคลอื่นใดงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ ดังต่อไปนี้
              (๑) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
              (๒) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
              (๓) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
              (๔) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
              (๕) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
              (๖) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
              (๗) การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน
        ข้อ ๔ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในโอกาสแรก ทั้งนี้ หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
        ข้อ ๕ ในกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๒ หรือข้อ ๓ ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย
        ข้อ ๖ การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงเป็นความผิดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98 / 2557
เรื่อง  เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
           โดยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีปัญหาความมั่นคงของชาติและความไม่สงบในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้านอย่างกว้างขวาง  ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ อันจะทำให้สามารถบรรลุผลในการขจัดหรือลดปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดความสงบสุขในพื้นที่ ความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ตลอดจนมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้ 
           ข้อ ๑ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ จนกว่าจะมีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่
           ข้อ ๒ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แบ่งการบริหารงานเป็น ๓ ระดับ
ได้แก่ ระดับนโยบาย ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับหน่วยปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
            (๑) ระดับนโยบาย ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ให้คำปรึกษา
            (๒) ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ดังต่อไปนี้
              (ก) ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกย่อว่า คปต.ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๐๗/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                (ข) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันในการบูรณาการแผนปฏิบัติการ แผนงาน และโครงการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสร้างความประสานสอดคล้องในทุกมิติ
              (๓) ระดับหน่วยปฏิบัติ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งปวงในพื้นที่ และให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดให้มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า
             ข้อ ๓  ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการปฏิบัติตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗  ทั้งนี้ สำหรับการปฏิบัติงานตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการปฏิบัติงานตามแนวทางดังต่อไปนี้
              (๑) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เสริมสร้างศักยภาพ ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่เป้าหมาย เร่งรัดการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ดำเนินการลดพื้นทีเขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และคุ้มครองหรือเผ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนและเป้าหมายอ่อนแอ เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากการก่อเหตุการณ์รุนแรง  ทั้งนี้ โดยต้องมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและหมู่บ้าน
               (๒) ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย  โดยในแผนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ของเขตในเชิงหลักการของกระบวนการ กลไกในการขับเคลื่อนในระดับต่าง ๆ การเชื่อมโยงกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมและการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทางด้านเครื่องมือ ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็น
               (๓) ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนโดยการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย
               (๔) ให้ศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เร่งรัดดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกด้านและทุกมิติโดยเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่อย่างแท้จริงและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  ตลอดจนสอดคล้องกับปัญหา ความต้องการของประชาชน และลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่ด้วย
              ข้อ ๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อ ๒ (๒) (ก)  ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการดังนี้
               (๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงาน แผนงาน โครงการ 
และการจัดตั้งงบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแนวทางและมาตรการการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้มีการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่ออนุมัติ
               (๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่พิเศษ เขตพัฒนาพิเศษ กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษ และการบริหารและการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษ หลังจากที่ได้มีการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรตามทีกฎหมายกำหนด แล้วเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่ออนุมัติ
               (๓) กำหนดกรอบและแนวทางการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ในการแก้ปัญหาความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานของกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้น
               (๔) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้น โดยต้องสอดคล้องกับการบริหารราชการและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงาน รวมทั้งจัดให้มีระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
               (๕) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
               (๖) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มอบหมาย
              ข้อ ๕ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจพิจารณาเรื่องใดกับกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสามคน เพื่อมีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องนั้น และเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีปกติ ให้ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แจ้งให้ที่ประชุมทราบมติดังกล่าวด้วย
              ข้อ ๖ ให้ที่ปรึกษา กรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่งตั้ง ได้รับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามระเบียบของทางราชการ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการโดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
              ข้อ ๗ ให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
               (๑) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
               (๒) ประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลและการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
               (๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมาย
              ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
              ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามอำนาจหน้าที่นของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอาจร้องขอต่อส่วนราชการเพื่อจัดส่งข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการหรือเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามปกติ แล้วแต่กรณี และจะให้ไปช่วยปฏิบัติงานเต็มเวลา บางเวลา หรือนอกเวลาก็ได้
              ข้อ ๙ ข้อสั่งการของประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องใดหรือการดำเนินการใด ๆ ตามข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นก่อนวันที่มีประกาศนี้ ให้ถือว่าข้อสั่งการหรือการดำเนินการนั้นเป็นมติหรือการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามประกาศนี้ ต่อเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีมติรับรองหรือให้ความเห็นชอบ
              ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
              ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 99 / 2557
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
          เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    “มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”
          ข้อ 2 ให้บรรดากฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีกฎหระทรวงหรือประกาศใหม่ใช้บังคับ
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 100/2557
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
         เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรโอนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   " มาตรา 6 สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและการวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การส่งเสริมการลงทุน การปฏิบัติภารกิจพิเศษและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ"
         ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (13) ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
                  " (13) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน"
         ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  "มาตรา 44 กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม"
          ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองและ (9) ของมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
          ข้อ 5 ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม และอำนาจหน้าที่ที่เป็นของข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี และของข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
           ข้อ 6 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี
           ข้อ 7 ในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยผลของพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ให้แก้ไขคำว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" เป็น "นายกรัฐมนตรี"
           ข้อ 8 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม และข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถือว่าอ้างถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี
           ข้อ 9 ในวาระเริ่มแรกให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 โดยอนุโลม จนกว่าจะมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

              พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
        หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ