วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำสั่ง คสช. ที่ 61 - 70 / 2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 61/2557
เรื่อง ให้บุคคลเข้ามารายงานตัวเพิ่มเติม
           เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันพุธที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เวลา 10.00 - 12.00 น. ดังนี้
          1. นาย รังสฤษฏิ์ ธิยาโน
          2. นาย ชัชชาญ บุปผาวัลย์
          3. นาย ยงยุทธ บุญดี
         4. นาย วัฒนา ทรัพย์วิเชียร
         สั่ง ณ วันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 62/2557
เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่
          เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
          1.ให้ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
          2.ให้ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
          3.ให้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
          4.ให้ นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุด
          5.ให้ นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
          6.ให้ นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          สั่ง ณ วันที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 63/2557
เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
         เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 557 เวลา 10.00 - 12.00 น.ดังนี้
         1.นายอิสระ สมชัย
         2.นายถนอม อ่อนเกตุพล
                    ฯลฯ
         สั่ง ณ วันที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2557

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๔/๒๕๕๗
เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้
        เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศโดยรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
        ๑. ให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก และกองทัพเรือ ตลอดจนหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สถาพป่า รวมทั้งผู้สมคบและสนับสนุนช่วยเหลือ ให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม การนำเข้าและส่งออกไม้ที่ผิดกฎหมาย ตลอดแนวชายแดน ตลอดจนปราบปรามเครือข่ายขบวนการตัดไม้ทำลายป่าในทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ
        ๒. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควบคุม ตรวจสอบ กิจการการแปรรูป การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ การค้าไม้แปรรูป ตลอดจนการค้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามและสิ่งประดิษฐ์ใด เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้หวงห้าม หากพบมีการปล่อยปละละเลย หรือมีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่บัญญัติไว้ ให้ดำเนินการลงโทษตรากฎหมายอย่างเด็ดขาดกับเจ้าของหรือผู้ประกอบการโดยทันที
        ๓. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดตามผลคดีป่าไม้และดำเนินการพื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย ให้คืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนและองค์กรชุมชนได้เข้ามีส่วนรวมในการดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจัง
        ๔. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปล่อยปละละเลย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามกรณีดังกล่าวข้างต้น จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาเด็ดขาดโดยทันที
        ๕. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามผลการดำเนินการตามข้อ ๑-๔ และรายงานผลการปฏิบัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อง
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        สั่ง ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๕/๒๕๕๗
เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
        เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ ดังนี้
       ๑. น.ส.กัญญาภัค มณีจักร
       ๒. นายประสิทธิ์ วุฒินันชัย
       ๓. พ.ท.สมจิตร เชื้อเดช
       ๔.นายสมชาย มงคลทรัพย์
       ๕. นายธนิต บุญญนสินีเกษม
       ๖. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
       สั่ง ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
       อนึ่ง กรณีการเชิญตัวบุคคลให้เข้ามารายงานตัว คสช.ก่อนหน้านี้ คสช. ขอเรียนชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าการเชิญตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการดูแลและทำความเข้าใจเท่าที่จำเป็นไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายชื่อในคำสั่งให้มารายงานตัวของ คสช. เกือบทั้งหมดให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและสามารถเดินทางกลับได้ภายในวันที่รายงานตัว จึงเรียนมาให้ทราบโดยทั่วกัน

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๖/๒๕๕๗
เรื่อง  เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน
        เพื่อให้การดำเนินการและการประสานงานในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศโดยรวม จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้
       ๑. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้การปฏิบัติอื่นๆ ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๗ ลง วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้
       ๒.ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
           ๒.๑ การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
           ๒.๒ การดำเนินการเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด
           ๒.๓ การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่เดิมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการและวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยด่วน
           ๒.๔ กรณีใดๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           สั่ง ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๗/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
       เพื่อให้การพิจารณาและเสนอแนะแนวทางและมาตรการต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งให้ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศได้ในภาพรวม หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ขึ้น โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
       ๑. องค์ประกอบ
         ๑.๑ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
         ๑.๒ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย รองประธานกรรมการ
         ๑.๓ ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
         ๑.๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
         ๑.๕ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ
         ๑.๖ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
         ๑.๗ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ
         ๑.๘ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ
         ๑.๙ ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
         ๑.๑๐ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
         ๑.๑๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
         ๑.๑๒ ปลัดกระทรวงแรงงาน กรรมการ
         ๑.๑๓ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการ
         ๑.๑๔ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
         ๑.๑๕ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
         ๑.๑๖ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
         ๑.๑๗ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ
         ๑.๑๘ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
         ๑.๑๙ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
         ๑.๒๐ ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
         ๑.๒๑ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการ
         ๑.๒๒ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กรรมการ
         ๑.๒๓ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
         ๑.๒๔ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายธานินทร์ ผะเอม) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
      ๒. อำนาจหน้าที่
         ๒.๑ พิจารณาและเสนอแนะแนวทางและมาตรการต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งให้ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
         ๒.๒ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
         ๒.๓ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         สั่ง ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๘/๒๕๕๗
เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
       เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ามารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ ดังนี้
       ๑. นางสุวรรณา ตาลเหล็ก
       ๒. นางพรพิมล ลุนดาพร
               ฯลฯ
       สั่ง ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๙/๒๕๕๗
เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
        เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
        ข้อ ๑. ให้ทุกภาคส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐโดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้
        ข้อ ๒. ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ ประกอบกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฏหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
       ข้อ ๓. ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ อย่างเคร่งครัด
       ข้อ ๔. กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
       ข้อ ๕. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการแสวงหา รวบรวม และดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการที่จะทราบรายละเอียดและพิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งติดตาม เร่งรัดผลการดำเนินงานตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ และรายงานผลการปฏิบัติพร้อมทั้งเสนอความเห็นให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       สั่ง ณ วันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗
เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่
         เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
         ๑.ให้ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
         ๒.ให้ นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน มาปฏิบัติหน้าที่ อธิบดีกรมการจัดหางานอีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
         ๓.ให้ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวมาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
         ๔.ให้ นายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวอีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         สั่ง ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

                พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
         หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ