คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๑/๒๕๕๗
เรื่อง การแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัด
ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ แล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้แต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัด ประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าชุดตรวจ
(๒) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) รองหัวหน้าชุดตรวจ
(๓) ปลัดจังหวัด รองหัวหน้าชุดตรวจ
(๔) ผู้บังคับการตำรวจน้ำ ชุดตรวจ
(๕) ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ชุดตรวจ
(๖) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชุดตรวจ
(๗) ประชาสัมพันธ์จังหวัด ชุดตรวจ
(๘) ประมงจังหวัด ชุดตรวจ
(๙) ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัด ชุดตรวจ
(๑๐) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ชุดตรวจ
(๑๑) พาณิชย์จังหวัด ชุดตรวจ
(๑๒) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ชุดตรวจ
(๑๓) อุตสาหกรรมจังหวัด ชุดตรวจ
(๑๔) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ชุดตรวจ
(๑๕) จัดหางานจังหวัด ชุดตรวจและเลขานุการ
(๑๖) แรงงานจังหวัด ชุดตรวจและผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๒ ให้ชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัดตามข้อ ๑ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ติดตาม ตรวจสอบนายจ้างและ สถานประกอบการ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการใช้แรงงานเด็กภายในเขตจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
(๒) ประสานงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภายในเขตจังหวัด
(๓) รายงานผลการดำเนินงานพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
(๔) ปฎิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์มอบหมาย
ข้อ ๓ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐภายในเขตจังหวัด สนับสนุนการดำเนินงานของชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัดตามที่ได้รับการร้องขอ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๒/๒๕๕๗
เรื่อง -
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๓/๒๕๕๗
เรื่อง -
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๔/๒๕๕๗
เรื่อง -
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๕/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง
ตามที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไปแล้ว นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินการในการพัฒนาศักยภาพและการแก้ปัญหาสินค้ามันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและยกระดับาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง” เรียกโดยย่อว่า “นบมส.” โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ :-
๑. องค์ประกอบ
๑.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ
๑.๒ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
๑.๓ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
๑.๔ ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
๑.๕ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
๑.๖ ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
๑.๗ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
๑.๘ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
๑.๙ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
๑.๑๐ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรรมการ
๑.๑๑ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กรรมการ
๑.๑๒ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรรมการ
๑.๑๓ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรรมการ
๑.๑๔ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการ
๑.๑๕ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรรมการ
๑.๑๖ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรรมการ
๑.๑๗ อธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการและเลขานุการ
๑.๑๘ รองอธิบดีกรมการค้าภายในที่กำกับดูแลกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร ๒ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๑.๑๙ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร ๒ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๒. อำนาจหน้าที่
๒.๑ เสนอกรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับสินค้ามันสำปะหลังต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารจัดการสินค้ามันสำปะหลังสอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
๒.๒ อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง
๒.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
๒.๔ พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อให้การบริหารจัดการมันสำปะหลังทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๒.๕ ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่ได้รับอนุมัติ
๒.๖ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการด้านการผลิต การตลาดและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
๒.๗ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ถ้ามี) ให้ได้รับโดยอนุโลมตามระเบียบราชการโดยให้เบิกจ่ายจากกรมการค้าภายใน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๖/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ตามที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไปแล้ว นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังในเรื่องการระบายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการของรัฐ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม และเกิดประโยชน์โดยรวมต่อระบบการผลิตและการค้ามันสำปะหลังของประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ :-
๑. องค์ประกอบ
๑.๑ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ประธานอนุกรรมการ
๑.๒ ผู้แทนกรมการค้าภายใน อนุกรรมการ
๑.๓ ผู้แทนกระทรวงการคลัง อนุกรรมการ
๑.๔ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการ
๑.๕ ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อนุกรรมการ
๑.๖ ผู้แทนองค์การคลังสินค้า อนุกรรมการ
๑.๗ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่ได้รับมอบหมาย อนุกรรมการและเลขานุการ
๑.๘ ผู้อำนวยการกองบริหารการค้าสินค้าทั่วไปกรมการค้าต่างประเทศ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๒. อำนาจหน้าที่
๒.๑ พิจารณาหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการระบายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการของรัฐ ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์โดยรวมต่อระบบการผลิตและการค้ามันสำปะหลังของประเทศ
๒.๒ กำกับ ดูแล และพิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการระบายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังดังกล่าว รวมทั้งการระบายสต๊อกคงเหลือจากการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมา
๒.๓ แต่งตั้งคณะทำงาน และที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควร
๒.๔ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ
๒.๕ ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มอบหมาย
๒.๖ รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ต่อไป
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ถ้ามี) ให้ได้รับโดยอนุโลมตามระเบียบราชการโดยให้เบิกจ่ายจากกรมการค้าต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๗/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอาหาร
ตามที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ไปแล้ว นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ๓ ชนิด ได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น มีเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ขณะเดียวกันต้องดูแลคุ้มครองเกษตรกร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม และสามารถเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม และให้เกิดการต่อเนื่องของมาตรการ ไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจขนองผู้ประกอบการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายอาหาร” โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ :-
องค์ประกอบ
๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ
๒. ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
๓. ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
๔. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
๕. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
๖. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
๗. อธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
๑. กำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ๓ ชนิด ได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น
๒. ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละชนิด คณะอนุกรรมการและคณะทำงานอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ถ้ามี) ให้ได้รับโดยอนุโลมตามระเบียบราชการโดยให้เบิกจ่ายจากกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม
เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และฉบับที่ ๑๐๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกชนิดนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จอันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๕๑ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม - ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ในชั้นนี้เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย
อนึ่ง ให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นที่เป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๙/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ตามที่ ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) นั้น
เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังต่อไปนี้
๑. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) กรรมการ
๒. รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๐/๒๕๕๗
เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม
เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้าง พื้นฐานการคมนาคมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน สมควรมีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นใน เรื่องดังกล่าว รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมประกอบด้วย
(๑) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
(๒) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองประธานกรรมการ
(๓) รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ
(๔) ปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการ
(๕) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
(๖) ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ
(๗) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
(๘) ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
(๙) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
(๑๐) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
(๑๑) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการ
(๑๒) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรรมการ
(๑๓) นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กรรมการ
(๑๔) นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย กรรมการ
(๑๕) นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ กรรมการ
(๑๖) นายนพพร เทพสิทธา กรรมการ
(๑๗) นายไพบูลย์ นลินทรากูร กรรมการ
(๑๘) นายมาโนช โลหเตปานนท์ กรรมการ
(๑๙) นายวิโรจน์ รุโจปการ กรรมการ
(๒๐) นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการ
(๒๑) นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กรรมการ
(๒๒) นายอนนต์ ศิริแสงทักษิณ กรรมการ
(๒๓) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร กรรมการและเลขานุการ
ข้อ ๒ ให้คณะกรรมการตามข้อ ๑ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความเห็นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศ
(๒) ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศสำหรับการ ขนส่งทุกรูปแบบอย่างเป็นระบบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ระบบการขนส่งทั้งในระบบถนน ระบบราง ระบบคมนาคมทางน้ำ และระบบคมนาคมทางอากาศมีความเชื่อมโยงและไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและแผนการ จัดการพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศในระดับภูมิภาค
(๓) เสนอแนะแนวทางการลงทุนและการจัดหาแหล่งเงินลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(๔) เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการคมนาคมที่มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(๕) เชิญเจ้าหน้าที่หรือบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลหรือขอ เอกสารจากหน่วยงานดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ หรือตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ