วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 71 - 80 /2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗
เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
        โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งยังไม่มี เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบการเงินของแผ่นดินโดยรวม ให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
         ข้อ ๒ ให้ยกเลิกบทบัญญัติแห่งชาติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ มาตรา ๘ มาตรา ๑๕(๖) มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ หรือมาตราอื่นใดที่ขัดหรือแย้งต่อประกาศฉบับนี้
         ข้อ ๓ ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินจำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกจำนวนหนึ่งคน โดยให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่ธุรการคณะกรรมการสรรหา
          บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ
          หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด
          ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
         ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านบัญชีและด้านกฎหมายด้านละสองคน ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจ และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดินอีกด้านละหนึ่งคน โดยผู้ได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
           บุคคลที่สมควรได้รับการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
           (๑) เคยเป็นข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๑๐ หรือเทียบเท่า หรือเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือเทียบเท่า
           (๒) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
           (๓) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
           บุคคลที่ได้รับการสรรหาตามวรรคหนึ่งต้องมีความชำนาญหรือประสบการณ์ทางด้านการตรวจเงินแผ่นดินอย่างน้อยสองคน
         ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกจำนวนหนึ่งคน โดยให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่ธุรการคณะกรรมการสรรหา
           บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และต้องไม่เป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด
          ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
         ข้อ ๖ ให้มีผู้ว่าราชการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาซึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีวุฒิการศึกษาในระดับตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี และต้องเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ ๑๐ หรือเทียบเท่า หรือเป็น หรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือเทียบเท่า และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒
         ข้อ ๗ เมื่อดำเนินการสรรหาเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป และให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
         ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีนับแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยมิให้นำบทบัญญัติที่ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพียงวาระเดียวมาใช้บังคับ เว้นแต่ผู้นั้นได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีกวาระหนึ่ง ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่เกินสามปี และให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่เกินสองปี
         ข้อ ๙ ในระหว่างการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗



ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗
เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
        เพื่อให้การดำเนินการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในส่วนของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังต่อไปนี้
        ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๓/๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
           “มาตรา ๑๐๓/๑๒ ในการแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งมีจำนวนห้าคน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้
            (๑) รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย
            (๒) อัยการจังหวัด
            (๓) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
            (๔) ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด
            (๕) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)
            ในกรณีที่มีกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งไม่ครบจำนวน ให้ดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
            ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการสรรหา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา”
        ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๓/๑๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
           “มาตรา ๑๐๓/๑๘ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดดังนี้
           (๑) ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต โดยดำเนินการเพื่อการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
           (๒) พิจารณาเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
           (๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย
           กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานการรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด มีอำนาจลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้”
           ข้อ ๓ การสรรหา คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอันใช้ได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๓/๒๕๕๗
เรื่อง การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปช่วยปฏิบัติงาน
        ในการแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นั้น จำเป็นต้องนำความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศดังต่อไปนี้
        ข้อ ๑ ในประกาศฉบับนี้
         “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
         “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งสังกัดหรือดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ และรวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
        ข้อ ๒ ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีมีคำขอไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไปช่วยปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นการช่วยปฏิบัติงานเต็มเวลา บางเวลา หรือนอกเวลาก็ตามให้หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือและถือว่าการไปช่วยปฏิบัติงานนั้นเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
           ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง ประมวลจริยธรรม หรือมติคณะรัฐมนตรีใด กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม หรือกำหนดเงื่อนไขหรือข้อห้าม อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจมาปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งได้ มิให้นำบทบัญญัติหรือมตินั้นมาใช้บังคับกับผู้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีมีคำขอตามวรรคหนึ่งและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนั้น
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดเป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗
เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
          โดยที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ผู้ร่วมประชุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถปรึกษาหารือกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวก แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งยังเป็นการประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการจัดการประชุมและการเดินทางไปร่วมประชุมด้วย และปัจจุบันมีการใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เปิดช่องให้ดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย สมควรมีกฎหมายกลางเพื่อกำหนดให้การประชุมบางอย่างที่กฎหมายต่างๆ บัญญัติให้ต้องประชุมสามารถกระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีผลบังคับใช้ตามกฏหมายได้อีกทางหนึ่งด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้
         “การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยผู้ร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุม ต้องอยู่ในที่ประชุมแห่งเดียวกัน และผู้ร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการประชุม แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิส์
         “ผู้ร่วมประชุม” หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขาธิการของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ
       ข้อ ๒ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
         (๑) การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
         (๒) การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
         (๓) การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
         (๔) การประชุมอื่นที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
       ข้อ ๓ การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม นอกจากจะดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
         ห้ามมิให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องที่มีการกำหนดชั้นความลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และเรื่องอื่นที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
       ข้อ ๔ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       ข้อ ๕ การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
       ข้อ ๖ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง
         (๑) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม
         (๒) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ
         (๓) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณีของผู้ร่วมประชุมทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม
       ข้อ ๗ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่ผู้ร่วมประชุม ให้จ่ายเบี้ยประชุมแก่ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
       ข้อ ๘ ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย ทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
       ข้อ ๙ การกำหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ ๔ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ใช้บังคับ โดยคำนึงถึงความสะดวกในการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗
เรื่อง ผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงการใหม่หรือการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจ
       ด้วยขณะนี้ปรากฎว่าตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ว่างลง จนอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องกำหนดผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความต่อเนื่อง และเพื่อให้การขออนุมัติโครงการใหม่ หรือการทำธุรกรรมของรัฐวิสาหกิจ มีความรอบคอบอันจะอำนวยประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ในประกาศนี้
     “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
                 (๑) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
                 (๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
       ข้อ ๒ เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจใดว่างลง นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการขึ้นใหม่ ให้รองประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้น
               ในกรณีที่มีรองประธานกรรมการหลายคน ให้กรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเลือกรองประธานกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการ
               ในกรณีที่ไม่มีรองประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการในคณะของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการ
       ข้อ ๓ กรณีที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งตามวาระ และมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าประธานกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่นั้น หากตำแหน่งดังกล่าวว่างลงให้นำความในข้อ ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
       ข้อ ๔ รัฐวิสาหกิจต้องได้รับอนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปนี้ได้
               (๑) การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่ที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท
               (๒) การทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๖/๒๕๕๗
เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗
        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อให้คุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
        ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        ข้อ ๖ ให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาซึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีวุฒิการศึกษาในระดับตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีหรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน และต้องเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ ๑๐ หรือเทียบเท่า หรือเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือเทียบเท่า และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๗/๒๕๕๗
เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม และมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานเรือประมงในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล
          โดยที่ข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด โดยการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใด และเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนด ประกอบกับเพื่อให้การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานเรือประมงในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพิ่มเติมใน ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรปราการ และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ให้เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗
           ข้อ ๒ ให้นายจ้างของคนต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงเพื่อจับสัตว์น้ำทางทะเล จัดทำบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวนของคนต่างด้าวดังกล่าว และแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดตามภูมิลำเนาที่จดทะเบียนเรือใน ๒๒ จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตราด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
           การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๘/๒๕๕๗
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่องผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงการใหม่ หรือการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อให้การดำเนินการลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่และการทำธุรกรรมของรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทมีความคล่องตัวและเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่องผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงการใหม่ หรือการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
         “ข้อ ๔ การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจดังต่อไปนี้ ให้รายงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อทราบ
         (๑) การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่ที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท
         (๒) การทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งมิใช่การดำเนินกิจการทั่วไปหรือเพื่อการดำเนินการตามปกติของรัฐวิสาหกิจนั้น
         การรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานแล้วเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อรวบรวมและเสนอความเห็นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป
         หลักเกณฑ์และวิธีการรายงานตามข้อนี้ ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกำหนด”
         ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๙/๒๕๕๗
เรื่อง เงื่อนไขในการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ
       ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๖/๒๕๕๗ เรื่อง การออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการออกอากาศต่อไปได้ตามปกติ เมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามประกาศฉบับดังกล่าวเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ และเพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนหรือก่อให้เกิดความแตกแยก อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้เครื่องส่งที่ผ่านกาตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิค ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๕ แล้ว ให้ออกอากาศต่อไปได้ตามปกติ
       ข้อ ๒ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้เครื่องส่งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ ให้ออกอากาศได้เมื่อเครื่องส่งได้ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๕ แล้ว
       ข้อ ๓ ผู้ที่ได้ยื่นคำขออนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงไว้ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๕ แล้ว และคำขออยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ออกอากาศได้เมื่อได้รับอนุญาตและเครื่องส่งได้ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศดังกล่าวแล้ว
       ข้อ ๔ สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ทดลองประกอบกิจการและถูกระงับการออกอากาศ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ระงับการออกอากาศไว้จนกว่าเหตุแห่งการระงับนั้นจะสิ้นสุดลงหรือคดีถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
       ข้อ ๕ การออกอากาศของผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ จะต้องใช้คลื่นความถี่และกำลังส่งที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อกิจการวิทยุการบิน กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุคมนาคม หรือข่ายสื่อสารอื่นภายในประเทศหรือของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และต้องปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตลอดระยะเวลาการออกอากาศ ในกรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สั่งให้ระงับการกระทำหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ในการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและให้ยุติการออกอากาศทันที
       ข้อ ๖ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ได้ออกอากาศตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ แล้ว จะต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะได้กำหนดต่อไป
       ข้อ ๗ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เร่งดำเนินการเพื่อให้การพิจารณาคำขออนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นไปโดยรวดเร็ว และจัดให้มีหน่วยรับตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งอย่างเพียงพอและทั่วถึง
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       ประกาศ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๐/๒๕๕๗
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
       โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการบริหารเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์ต่อรัฐอย่างสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                "มาตรา ๔๒ ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามมาตรา ๔๑ โดยแยกเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาตและต้องชำระเป็นรายปี ในอัตราที่เหมาะสมกับประเภทของใบอนุญาตตามกฏหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เว้นแต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ถือว่าเงินที่ได้จากการประมูลตามมาตรา ๔๑ วรรคหก เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาต และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน"
       ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖) ของมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ "(๖) ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุน เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ"
       ข้อ ๓ ให้ยกเลิก (๒) ของมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๒
       ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                "มาตรา ๕๔ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
                 (๑) ประธาน กสทช. เป็นประธานกรรมการ
                 (๒) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้อำนวยการศุนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
                 (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน ซึ่งกรรมการตาม (๑) และ (๒) เป็นผู้คัดเลือก
                 ให้เลขาธิการ กสทช.เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ กสทช.แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน กสทช.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
                 กรรมการตามวรรคหนึ่ง (๓) ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗ ข. (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
                 ให้นำมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนโดยอนุโลม
       ข้อ ๕ เงินที่ได้จากการประมูลตามมาตรา ๔๑ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากยังมิได้นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       ประกาศ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

              พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
        หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ