วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 101 - 110 /2557

ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 101/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557
         โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เพื่อให้กระบวนการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถดำเนินการได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 10 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช
                 "ข้อ 10 ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาในตำแหน่งใดในคณะกรรมการสรรหาตามข้อ 3 หรือข้อ 5 ให้คณะกรรมการสรรหาดังกล่าวประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่”
        ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
        ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102 / 2557
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านเช่นเดียวกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนภายในหมู่บ้านโดยส่วนรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3) ในวรรคหนึ่งของมาตรา 28 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2510
          “(3) ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ”
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103 / 2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เพื่อให้การเผนแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนและความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  "(3) การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ"
         ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                  "ข้อ 5 ในกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ"
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557



ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 104 / 2557
เรื่อง  การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
         เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความโปร่งใส และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินและการคลังที่ดี รวมทั้งเป็นการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
         ข้อ 1 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ นโยบาย ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างเคร่งครัด
         ข้อ 2 การติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามข้อ 1 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบแบแผนของทางราชการ โดยมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการประเภทงบลงทุนที่เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม หากในการตรวจสอบนั้นปรากฎว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีพฤติการณ์การใช้จ่ายงบประมาณหรือการบริหารงบประมาณในเรื่องใดไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
         ข้อ 3 ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำกับดูแลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปโดยเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
                  (1) เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นได้เห็นชอบราคากลางงานก่อสร้างโครงการใดที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไปแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ตั้งงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างนั้น รายงานข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบราคากลาง ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภออาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายผู้ที่มีความรู้และความชำนาญด้านการประมาณราคาก่อสร้างให้ไปตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้ตามความเหมาะสม
                 (2) หากมีข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างใดมีการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส หรือมีลักษณะที่น่าจะเป็นการดำเนินงานที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงข้อเท็จจริง ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภออาจมีคำสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างนั้นไว้ก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบ ทบทวน หรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการปรากฎว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น แล้วดำเนินการตามกฎหมายแก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่ได้กระทำการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบนั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
                (3) การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี เว้นแต่กรณีการป้องกันหรือบรรเทาสาธารณภัยเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน และกรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พ.ศ.2554 ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 105/2557
เรื่อง  การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
          ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 55/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 นั้น
          เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้มีกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบของคณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 55/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
          ข้อ 2 มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2520 มาใช้บังคับกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้มีการแต่งตั้งตามประกาศนี้
          ข้อ 3 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
                   (1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ - ประธานกรรมการ
                   (2) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ - กรรมการ
                   (3) รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ - กรรมการ
                   (4) ปลัดกระทรวงการคลัง - กรรมการ
                   (5) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ - กรรมการ
                   (6) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - กรรมการ
                   (7) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ - กรรมการ
                   (8) ผุ้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย - กรรมการ
                   (9) ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย - กรรมการ
                  (10) ประธานสมาคมธนาคารไทย - กรรมการ
                  (11) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย - กรรมการ
                  (12) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - กรรมการ
                  (13) พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล - กรรมการ
                  (14) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ - กรรมการ
                  (15) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช - ที่ปรึกษา
                  (16) นายประกิจ ชินอมรพงษ์ - ที่ปรึกษา
                  (17) นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด - ที่ปรึกษา
                  (18) นายภัคพล งามลักษณ์ - ที่ปรึกษา
                  (19) นายสมชาย หาญหิรัญ - ที่ปรึกษา
                  (20) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - กรรมการและเลขานุการ
          ข้อ 4 ให้กรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศนี้ มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557
เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
           ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    "มาตรา 7 ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัง ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา"
          ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   "มาตรา 48 ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป มีไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย แปรรูป ไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต"
          ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2525 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น (1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท”
          ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 72 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    "ในกรณีความผิดมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น
                     (1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ
                     (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินห้าต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้ที่ครอบครองเกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท”
           ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2525 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                     ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ
                     (1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระชิก ไม้กระชิบ ไม้พยุง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ตเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข หรือ
                    (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท”
           ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในลำดับที่ 53 ในช่องประเภท ก ไม้หวงห้ามธรรมดาของบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 107/2557
เรื่อง  ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง
          ตามที่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ได้ครบวาระลงแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2556 แม้จะมีการดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดใหม่ แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการโดยเรียบร้อยได้ เพราะมีข้อขัดแย้งกันมาก จนมีคดีฟ้องร้องในศาลต่อเรื่องกัน มากกว่า 70 คดี สมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ ล้วนเป็นสมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น หากปล่อยใหเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่อาจดำเนินการให้ลุล่วงได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับสิ้นสุดลง และให้การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุติลง จนกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ กฎหมายอื่นใดที่จะกำหนดไว้เป็นประการอื่น
          ข้อ 2 กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา หรือ ให้ความเห็นชอบในเรื่องใด ให้บทบัญญัติว่าด้วยส่วนดังกล่าว เป็นอันงดใช้บังคับ
          ข้อ 3 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังคงปฏิบัติหน้าต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรี อาจมอบหมายให้ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นตามกำหนดให้
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557
เรื่อง    การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู
         เพื่อให้การดำเนินการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดเป็นไปโดยเหมาะสม สมควรกำหนดให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม ได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยการยินยอม และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
              ข้อ ๑ ในกรณีที่ผู้ใดต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หากผู้นั้นยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดดำเนินการให้ผู้นั้นเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู
           ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟู และได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน
           การนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศกำหนด
          ข้อ ๒ ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูนั้นต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุกให้ส่งตัวผู้นั้นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
          ข้อ ๓ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับอำเภอหรือเขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
          ข้อ ๔ ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดกรองและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อจำแนกผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานบำบัดฟื้นฟูหรือสถานที่อื่นตามที่หัวหน้าศูนย์กำหนด ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          ข้อ ๕ ให้ศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมีอำนาจหน้าที่จัดระบบดูแลช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในจังหวัดให้มอบหมายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู สำหรับกรุงเทพมหานครให้มอบหมายผู้อำนวยการเขต ผู้นำองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังกล่าว
          ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการบำบัดฟื้นฟู ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งชื่อตัวชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูต่อไป
          ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 109/2557
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
         โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
           “มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า “ป.ป.ส.”ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
           ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
           ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            “มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
              (๑) กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน มาตรการ และกลไกในการสกัดกั้น ป้องกันและปราบปราม บำบัดรักษา และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ครบวงจร เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
              (๒) กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้งประสานงานการข่าวเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
              (๓) ควบคุม เร่งรัด และประสานงาน เพื่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม การฟ้องคดี และการบังคับโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
              (๔) กำหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกำหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหา และให้ส่วนราชการให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
              (๕) วางโครงการและดำเนินการ ตลอดจนสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
              (๖) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงานหรือโครงการของส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
              (๗) ประสานงานและกำกับเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
              (๘) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
              (๙) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกำหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว
              (๑๐) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้ความดีความชอบหรือโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตลอดจนขอให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด
              (๑๑) พิจารณาและดำเนินการจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งกำกับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว
              (๑๒) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
              (๑๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”
           ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            “มาตรา ๑๓ ตรี ในกรณีที่เจ้าพนักงานตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๑๓ ทวิ หากเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการดังกล่าวไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ให้คณะกรรมการเชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้วให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้เลขาธิการมีอำนาจในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการนั้นทราบคำสั่ง”
           ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
           ข้อ ๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการและเลขานุการ
           ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
           ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 110/2557
เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์
          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเงินและสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในหรือออกจากเรือนจำ
เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
          ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
           “มาตรา ๔๕ ผู้ใดเข้าไปในเรือนจำโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นำเข้ามาหรือเอาออกไปจากเรือนจำ หรือครอบครอง เก็บรักษาไว้ หรือใช้ในเรือนจำ หรือรับจากหรือส่งมอบแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งเงินหรือสิ่งของต้องห้ามโดยทางใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำหรือกรมราชทัณฑ์ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
             เงินและสิ่งของต้องห้ามที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรานี้ให้ริบเป็นของแผ่นดิน”
         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

                                                                  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                                                          หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ