สรุปสาระสำคัญใน คำสั่ง หน.คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘
เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
ข้อ ๒ ในคำสั่งนี้“เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้
“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้
ข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว
.....
(๔) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ข้อ ๔ ในการดำเนินการตามข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ ๓
(๒) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
(๓) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ ๓ ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๔) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามข้อ ๓ หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ ๓ หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
(๕) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (๔)
(๖) กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ข้อ ๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ ๑๒ ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ ๑๑ วรรคสอง (เงื่อนไขในการปล่อยตัว หมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๒) ถึง (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (มีดังนี้ (๒) ห้ามเข้าเขตกำหนด (๓) เรียกประกันทัณฑ์บน (๔) คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล (๕) ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง) การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน) ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๙
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ