วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย

สรุปสาระสำคัญใน คำสั่ง หน.คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ 
เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  
               ข้อ ๒  ในคำสั่งนี้
               “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้
               “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้
              ข้อ ๓  ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว
               .....
               (๔)  ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
               ข้อ ๔  ในการดำเนินการตามข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                (๑)  ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ ๓
                (๒)  จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
                (๓)  ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ ๓ ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                (๔)  เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิดตามข้อ ๓ หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ ๓ หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
               (๕)  ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (๔)
               (๖)  กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
              ข้อ ๘  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              ข้อ ๑๒  ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
              ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ ๑๑ วรรคสอง (เงื่อนไขในการปล่อยตัว หมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๒) ถึง (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (มีดังนี้ (๒) ห้ามเข้าเขตกำหนด (๓) เรียกประกันทัณฑ์บน (๔) คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล (๕) ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง) การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน) ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๙
               ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              ข้อ ๖  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดได้กระทำความผิดตามข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อ ๓ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้
               เมื่อมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
             ข้อ ๑๑  ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ ๖ วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทำความผิดตามข้อ ๓ (๔) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้
              เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๒) ถึง (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน
              ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

             ข้อพิจารณา:-  ข้าราชการทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และผู้ช่วยฯ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. หรือคำสั่ง หน.คสช. โดยข้าราชการทหารมีอำนาจ เรียก จับกุม ควบคุม สอบสวน ค้น ยึดและอายัด ตลอดจนการกระทำอื่นใดตามที่ คสช. มอบหมาย โดยเป็นเจ้าพนักงานประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตำรวจ
             การมั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมาย แต่คดีเลิกกันได้ ถ้าผู้นั้นสมัครใจเข้ารับการอบรมไม่เกิน ๗ วัน และได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขจากข้าราชการทหาร แต่ถ้าหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ย่อมเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายเช่นเดียวกัน
              กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีหลักฐานตามสมควร ก็มีอำนาจเรียกตัวมาสอบถามและควบคุมตัวได้ไม่เกิน ๗ วัน และปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากมีเหตุต้องดำเนินคดีก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘