วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การยกเลิกชื่อเรียกพนักงานสอบสวน

              วิเคราะห์ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗/๒๕๕๙  ลงวันที่ ๕ ก.พ.๒๕๕๙
              เรื่อง   การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน
              จุดมุ่งหมายของคำสั่งนี้  เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม สมควรปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะส่งผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในงานการสอบสวน  คำสั่งดังกล่าวจึงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๗ ไว้ดังนี้
              ๑.  ยกเลิก ชื่อเรียกคำว่า “พนักงานสอบสวน  พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ  พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ  พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ  พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ และ พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ" ไม่ให้มีปรากฏใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๗ พร้อมกับได้ยกเลิกการกำหนดตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ให้มีเฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้มีต่อไป  (ข้อ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘)
              ๒.  กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง รองสารวัตร สารวัตร และรองผู้กำกับการ ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน เท่านั้น จึงจะได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบที่ ก.ตร. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนในตำแหน่งอื่นจะไม่ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ  (ข้อ ๔)
              ๓.  ยกเลิกการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวน เป็นพนักงานสอบสวนในระดับต่าง ๆ โดยการประเมินด้วยการนำปริมาณและคุณภาพของสำนวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการเดิมที่เคยกำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร.   (ข้อ ๕)
              ๔.  ผู้ใดดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ  พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ  พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ  พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ หรือพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในส่วนราชการใดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่ง รองสารวัตร  สารวัตร  รองผู้กำกับการ  ผู้กำกับการ  รองผู้บังคับการ หรือผู้บังคับการ แล้วแต่กรณี  และให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมไปพลางก่อน จนกว่า ก.ตร. กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มให้อีกส่วนราชการหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ ๕ พ.ค.๒๕๕๙) ในระหว่างนี้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ ยังคงได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ จนกว่าการดำเนินการแต่งตั้งแล้วเสร็จ   (ข้อ ๙)
             ๕.  บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ที่อ้างถึงพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ และพนักงานสอบสวน ให้ถือว่าอ้างถึงข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับการ  สารวัตร และ รองสารวัตร ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน แล้วแต่กรณี โดยไม่อ้างถึงพนักงานสอบสวนในระดับอื่นอีก  (ข้อ ๑๐)
             ๖.  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลวันที่ ๒๐ ก.พ.๒๕๕๙)
             วิเคราะห์แล้วเห็นว่า:-  คำสั่งได้กำหนดไม่ให้มีชื่อเรียกว่า พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ  พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ  พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ  พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ หรือพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อีกต่อไป และยกเลิกการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวนแบบเดิม ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่ง รองสารวัตร สารวัตร และรองผู้กำกับการ ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน จะได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ถ้าหาก ก.ตร. กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่ง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งแต่งตั้งเสร็จแล้ว บรรดาบทบัญญัติต่าง ๆ ไม่มีการกล่าวถึงพนักงานสอบสวน ที่ดำรงตำแหน่งในระดับ ผู้กำกับการ รองผู้บังคับการ ผู้บังคับการ ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวนต่อไป และไม่ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษเช่นเดียวกับรองสารวัตร สารวัตร และรองผู้กำกับการ ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ดังกล่าวข้างต้น
ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
http://www.matichon.co.th/news/62131